พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ภาคเหนือเขต 1) ร่วมกับ
สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)
ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ
ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน


วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 นางเนตรนภา สุทธิธรรมดำรง รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร และ นางสาวอำไพ ไชยพิจิตร กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคเหนือ เขต 1 ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยมีคณะผู้บริหารและบุคลากรของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ผู้นำภาคเอกชนกว่า 25 หน่วยงานจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) จังหวัดเชียงใหม่



          สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ภาคเหนือเขต 1) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) มีเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของหน่วยงานสอดคล้องกันและสามารถสนับสนุนการดำเนินงานซึ่งกันและกัน จึงได้ร่วมกันกำหนดแนวทางที่จะดำเนินภารกิจร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ให้เกิดการยกระดับเพิ่มศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยภาคเหนือตอนบนให้เกิดมูลค่าสูงสุด ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่โดยหลังจากการลงนามในครั้งนี้แล้ว ทั้งสองหน่วยงานจะได้ร่วมกันดำเนินงานภายใต้กรอบการดำเนินงานต่างๆ ได้แก่ วางแผน การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และชุมชน เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในทุกมิติ แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ฐานข้อมูลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และความคิดเห็นระหว่างหน่วยงาน รวมถึงร่วมกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อีกทั้งพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ต่อไป


           สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) มีการบริหารแบบประชารัฐ คือ มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สังคมและชุมชน ในลักษณะพาดผ่านสายงานไปสู่เป้าหมายแผนงานโครงการร่วมกันที่ไปเชื่อมโยงกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ ที่จะสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามพันธกิจให้ไปสู่ภาพความสำเร็จของสำนักงานพัฒนาพิงคนครฯ โดยพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือตอนบนให้เป็น The world class destination of Lanna Eco Tourism และ สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ยังมีบทบาทเป็นแกนหลักในการให้บริการสาธารณะสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นแกนหลักในการบริหารจัดการศูนย์ประชุมฯ เพื่อรองรับและสนับสนุนอุตสาหกรรม MICE โดยวางตำแหน่งเป็น Lanna Eco MICE อีกทั้งเป็นแกนหลักในการวางแผน พัฒนา และบริหารจัดการสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า และแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ทั้งสองหน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักงานพัฒนาพิงคนค มุ่งที่จะสร้างงานกระจายรายได้สู่สังคมและชุมชน และยกระดับคุณภาพ ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่

นางเนตรนภา สุทธิธรรมดำรง รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร กล่าวว่า ภารกิจของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร มี 3 ส่วน ส่วนแรกคือ เรื่องของการประสานเชื่อมโยง สนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเขตภาคเหนือตอนบนทั้ง 8 จังหวัด ซึ่งคำว่าอุตสาหกรรม มันรวมทุกส่วน ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร ภาคบริการ ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ซึ่งเราคาดหวังว่า ภารกิจนี้เราอยากจะทำให้มันเกิดประโยชน์กับพื้นที่จริง ๆ และเราก็มีแผนทำงานกับภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งตอนนี้ก็เป็นรูปธรรม เช่นการลงพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เจาะชุมชนต้นแบบแห่งความดี ของสำนักปลัดสำนักนายกที่มาจัดแสดงนิทรรศการมีชีวิตที่ ศูนย์ประชุมแห่งนี้ พบว่าเราควรจะทำเรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีอยู่ สิ่งแวดล้อม และในส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ หรือว่าภาคเหนือตอนบนมีจุดขายอะไร สุดท้ายแล้วเราไม่หลุดจากศิลปะวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ สำนักงานพัฒนาพิงคนครมีจุดมุ่งหมายที่จะทำภาพใหญ่ให้ภาคเหนือตอนบนทั้งหมดเป็น World Class Destination Lanna Eco Tourism เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรมเรามีทุนอยู่แล้วเพราะฉะนั้นการที่เราจะทำขายศิลปะและวัฒนธรรมหรือ Eco ไม่ว่าจะเป็นการลดหมอกควัน ปลูกผักออแกนิคต่าง ๆ ตรงนี้เราเริ่มดำเนินการ และประสานในพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้รับการตอบรับ ทุกคนดีใจว่า จะมีหน่วยงานภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือ เราไม่ได้ไปแย่งหน้าที่ใครทำ หน้าที่ของทุกคนก็ยังมีอยู่ เพียงแต่เราเป็นตัวประสาน เชื่อมโยง และก็ส่งเสริมสนับสนุน ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริง


นางสาวอำไพ ไชยพิจิตร กรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ภาคเหนือเขต1) กล่าวว่า มันเป็นความร่วมมือที่น่าจะขับเคลื่อนกันไปได้ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็คือ การขับเคลื่อนการผลักดัน เกิดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน แล้วมีการบูรณาการทุกภาคส่วน แล้วนำพาเอาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกระบบเข้าไปสู่ตลาดโลกเวทีโลก สิ่งหนึ่งที่เราเล็งเห็นว่าตัวพิงคนครและศูนย์ประชุมมีศักยภาพเพราะว่า ได้ทำงานในระดับโลกหลายเวทีแล้ว ซึ่งเป็นที่รับรู้และยอมรับจากนานาประเทศ ตอนนี้เป้าหมายของเราคือเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ไปอีก 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าตอนนี้โลจิสติกเจริญ เพราะว่าสายการบินมาเชียงใหม่แน่นมาก จะเห็นว่าตอนนี้เชียงใหม่รถติด ต่อไปเราอาจจะมองภาพว่าเราจะทำอย่างไรที่จะวงแผนให้คนเดินทางมาท่องเที่ยว ในเชียงใหม่ และกระจายไปที่เมืองรอง 8 จังหวัด แล้วศูนย์ประชมแห่งนี้จะเป็นเวทีที่จะแสดง หรือ กระจายสินค้าและนักท่องเที่ยวไปสู่เมืองรอง

                นายสราวุฒิ สินสำเนา ประธานเครือข่ายหน่วยงานบริการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคเหนือกล่าวว่า ผมเป็นประธานเครือข่าย SME ภาคเหนือ ก็ต้องบอกว่าเรามีเครือข่ายค่อนข้างหลากหลายและเยอะจริงๆ แล้วศูนย์ประชุมนานาชาติที่มีก็ถือว่าเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ แล้วก็การสร้างงานที่ผ่านมาก็อาจยังหาทิศทางอยู่ แต่ตอนนี้ผมได้คุยกับผอ.แล้ว ผมเห็นทิศทางต่อจากนี้มีความชัดเจน มีการวางแผนยุทธศาสตร์ การวางแผนที่จะเชื่อมโยงกับหลายๆหน่วย แล้วเราเองก็สามารถที่จะสร้างศูนย์ประชุมนี้ที่จะเป็นหน้าเป็นตาให้ออกเป็น Global ได้ไม่ยากนักซึ่งตัวผมเองที่อยู่ทั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งหอการค้า และ SME ผมมองเห็นการสัมมนาและ Exhibition ต่างๆ ยังไม่มีที่ไหนในเชียงใหม่ที่ดูดีเท่านี้ แต่เรายังใช้ประโยชน์จากที่นี่ยังไม่เต็มที่เท่าไหร่ เพราะฉะนั้นภาคเอกชนก็หวังว่าทางราชการ (องค์การมหาชน) จะให้โอกาสเอกชนได้มาใช้พื้นที่นี้ และการใช้พื้นที่นี้เราสามารถที่จะทำในลักษณะ AEC ได้เลย แล้วก็ทั้งหมดจะบอกความเป็นตัวตนของเชียงใหม่ออกไปได้แน่นอน ผมมองว่าการลงทุน 4 – 5 พันล้าน กับการสร้างศูนย์ประชุมฯ แบบนี้ อย่าใช้ให้เป็นแบบธุรกิจมากนัก เราต้องใช้ศูนย์ประชุมฯ นี้ให้เหมือนการใช้ถนน เพราะการสร้างถนนให้รถมาวิ่ง มันก็เป็นเศรษฐกิจบ้านเรา การสร้างศูนย์ประชุมฯ ก็เช่นกัน อย่าคิดว่าเป็นธุรกิจ การแสวงหาผลกำไร แต่ถ้าเราให้โอกาสโอทอปและ SME ต่างๆ ซึ่งผมดูแลในเครือข่ายประมาณ 22 องค์กร ไม่ว่าจะเป็น สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาคม ธนาคาร ทุกคนเอางานทั้งหมดที่มีอยู่นี้มารวมกัน ปีนึงเกิน 50 งาน เพราะฉะนั้นเดือนนึงจัดแค่ 2 งาน เชียงใหม่ก็วุ่นวายแล้ว ที่นี่จึงเป็นโอกาสจริงๆ

                   นายเสริมพงศ์ ทรรปณ์ทิพากร รองประธานกรรมการสมาพันธ์ SME เชียงใหม่ กล่าวว่า ผมมองว่าพิงคนคร ที่ตั้งขึ้นมา มีประโยชน์กับเชียงใหม่โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยๆ ที่ต้องการการพัฒนาด้านการเกษตรที่เป็นอินทรี ซึ่งจะมุ่งไปสู่การแปรรูป หลังจากการแปรรูปแล้วก็จะไปสู่ธุรกิจต่างๆ ไปสู่ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านค้า ธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นของฝากของขวัญอะไรนี้ มันเป็นช่องทางเป็นโอกาส ที่พิงคนครฯ จะเชื่อมโยงกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็จะเป็นการเพิ่มมูลค้าให้กับสินค้าเพิ่มโอกาสที่จะช่วยขับเคลื่อนเชื่อมโยงธุรกิจต่างๆให้ดีขึ้น

                   นายบุญทา ชัยเลิศ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่/รองประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่หลังจากที่เรามี ศูนย์ประชุมฯมีพิงคนครฯ เข้ามาบริหารซึ่งพึ่งจะเข้ามาบริหารจริงๆผมว่าไม่น่าจะเกิน 3 ปี เมื่อก่อนเกิดสิ่งที่ว่ามีความขัดแย้งอะไรต่างๆ ทำงานอะไรไม่ได้เลย เราจะเห็นว่าเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ มีพิงคนครฯหรือว่าศูนย์ประชุมฯ เป็นส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการจัดประชุมครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมน้ำโลก ข้าวโลก ไม่ว่าจะเป็นการประชุมท่องเที่ยวระดับโลก (TTM)

ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดจากภาคเอกชนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนร่วมกับสำนักงานพัฒนาพิงคนครต่อไปในอนาคต